โพสเมื่อ 03 Aug 2023 11:11:01 6761 view
9 เทคนิคจั่วหัวเรื่องดึงดูดใจผู้อ่าน
การ "จั่วหัว" ในแวดวงงานเขียนบล็อกหรือบทความของคุณก็คงจะเหมือนกับทีเซอร์ของภาพยนตร์ ละครดังหลังข่าว เมื่อไรก็ตามที่จะมีการออกอากาศละครเรื่องใหม่ ทางผู้จัดละครมักจะตัดทีเซอร์เจ๋ง ๆ ออกมาให้ดูเพื่อเรียกน้ำย่อยและล่อใจผู้ชมให้อยากติดตาม ถือเป็นการเช็คเรทติ้งอีกทางหนึ่งด้วย แล้วในมุมของงานเขียนล่ะ คุณจะจั่วหัวงานเขียนของคุณอย่างไรให้ดึงดูดใจจนอยากคลิกอ่าน
ง่าย ๆ เลย เวลาที่คุณอยากค้นหาอะไรในอินเตอร์เน็ต คุณต้องถามเฮียกู (กูเกิล) ใช่ไหมล่ะ โดยพยายามหาคำหลักที่เหมาะกับสิ่งที่ค้นหา และสิ่งที่ได้จากการค้นหาและดึงดูดความสนใจของคุณคือชื่อที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่คุณต้องการจนทำให้คุณตัดสินใจคลิกเข้าไปอ่านเว็บไซต์นั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นลิงก์ที่ปรากฎออกมาแรก ๆ แต่อาจเป็นลิงก์ท้าย ๆ ก็ได้
“จั่วหัวดี เหมือนมีไดนาไมท์ระเบิดประตูสู่เว็บไซต์"
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณคงอยากรู้กันแล้วใช่ไหมว่าเคล็ดลับการจั่วหัวแบบดึงดูดใจนักอ่านมีอะไรบ้าง ตามต่ออย่ารอช้าค่ะ
1. เรียบง่ายถ่ายทอดตรงไปตรงมา : เขียนกันแบบง่าย ๆ ตรงไปตรงมาเลยไม่ต้องแฝงสปอนเซอร์หรือใช้โครงสร้างคำซับซ้อน ผู้อ่านที่เข้ามาหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่มีความเร่งด่วนในการหาข้อมูล ไม่ต้องเสียเวลา และไขข้อข้องใจได้ทันที
ตัวอย่างเช่น : “รายชื่อเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ย่านทองหล่อ"
2. สร้างลายเส้นเน้นเอกลักษณ์ : บทความทำนองเดียวกันบนโลกออนไลน์มีมากมาย ดังนั้นต้องสร้างเอกลักษณ์ให้กับงานเขียนของตัวเอง สิ่งที่จะช่วยคุณได้คือการค้นคว้าหาข้อมูลก่อนที่จะลงมือเขียน ตีความ ทำความเข้าใจ ถ่ายทอดในรูปแบบคำที่เป็นภาษาของคุณแต่สาระไม่ผิดเพี้ยน
3. คำหลักดักการค้นหา : อย่าลืมว่าเครื่องมือค้นหาจะเลือกคำหลักมาใช้และเมื่อบทความของเราถูกค้นหาบ่อยจะถูกจัดอันดับให้สูงขึ้นด้วย
“อันดับที่สูงขึ้น นำไปสู่การเข้าชมที่สูงขึ้น"
4. ตั้งคำถาม surprise : ตั้งคำถามแปลก ๆ และตลกแบบที่คนคาดไม่ถึงว่าจะมีใครกล้าตั้งคำถามแบบนี้ เอาเข้าจริงๆ แล้ว คำถามแปลก ๆ เหล่านี้มีคนมากมายสงสัยอยากรู้ แต่ไม่มีใครกล้าตั้งคำถาม
“จงสร้างช่องว่างที่อยากรู้อยากเห็นและปล่อยให้ผู้อ่านต้องการมากขึ้น ทำให้กระตือรือร้นค้นหาคำตอบจนอดใจไม่ไหวต้องคลิกอ่าน"
5. พาดหัวจั่วตัวเลข : การพาดหัวที่มีตัวเลขทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเนื้อหานั้นสามารถวัดและกำหนดปริมาณได้โดยตรง ช่วยเพิ่มโฟกัสในการอ่าน เพราะผู้อ่านคาดหวังว่าข้อมูลจะอยู่ในรูปแบบของรายการ ดังนั้นจึงการใช้ตัวเลขในชื่อเรื่องจะเพิ่มอัตราการคลิกเข้าบทความของคุณ
6. จั่วหัวตัวหนา : ตัวอักษรหนาช่วยดึงดูดความสนใจของผู้อ่านให้เข้าสู่เรื่องทันทีและให้ความรู้สึกตื่นตัวกับเนื้อหาที่พวกเขาไม่ควรพลาด
7. เน้นความรู้สู่การสอน : การจั่วหัวแบบนี้เป็นอีกหนึ่่งวิธีในการเขียนหัวเรื่องที่ดี สิ่งเหล่านี้มีประสิทธิภาพสูงเมื่อชื่อเรื่องไปตรงกับภารกิจของผู้อ่าน ตรงกับภาษาของพวกเขาจนทำให้ต้องคลิกเข้าไปอ่าน
ตัวอย่างเช่น "แอพกล้องที่ดีที่สุดสำหรับมือถือระบบ IOS คืออะไร?”
8. ช่องลัดเข้าทางด่วน : การนำตัวแปรเรื่องความเร่งด่วนเป็นวิธีทดสอบอีกวิธีหนึ่งในการดึงดูดปริมาณการเข้าชมทันที เพราะเป็นการสร้างความกลัวให้กับผู้อ่านเกี่ยวกับกำหนดเวลาที่ขาดหายไปหรือคำที่เหมาะสมอื่น ๆ แม้ว่าการพาดหัวแบบนี้จะช่วยเพิ่มอัตราการคลิกเข้าไปอ่านบทความของคุณ โปรดจำไว้เสมอว่าอย่าล้อเล่นและหลอกลวงผู้อ่านโดยไม่ทำตามกำหนดเวลา เพราะจะทำลายความเชื่อใจได้
ตัวอย่างเช่น : “หากคุณทำการจองห้องพักภายในวันนี้ เราขอมอบอาหารค่ำให้คุณฟรี"
9. สร้างปริศนาพาให้อยากรู้ : การพาดหัวเรื่องที่ดีอีกวิธีหนึ่งคือการดึงเอาความคิดหลักที่เป็นกุญแจไขไปเปิดประตูเพื่อดูเนื้อหาด้านในให้ได้ แต่อย่าเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดออกมาเพราะจะทำให้ผู้อ่านไม่สนใจที่จะเข้าไปคลิกอ่านเนื้อหาภายในอีกเลย
ตัวอย่างเช่น : “7 สิ่งที่นักเขียนมือใหม่ต้องรู้"
ถึงตอนนี้เราได้ทราบแล้วว่าการ "จั่วหัว" ที่สำคัญเป็นอย่างไร แต่สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้ก็คือ "อย่าเขียนชื่อยาว ๆ" เพราะโดยปกติชื่อเรื่องที่มากกว่า 60 ตัวอักษรจะไม่ปรากฎให้เห็นทั้งหมด หากต้องการ "จั่วหัว" ที่สะดุดตาและบทความมีประสิทธิภาพ ลองนำเทคนิคที่หยิบยกมาข้างต้นไปใช้ดู ย้ำอีกครั้งนะคะว่า เน้นที่การสื่อสารตรงไปตรงมาไม่มีการหลอกลวงใด ๆ เพียงเท่านี้ก็จะนำบทความของคุณไปไกลกว่าคู่แข่งได้อย่างสบาย ๆ ค่ะ