โพสเมื่อ 15 Dec 2020 14:14:25 2094 view
เขียนหัวข้อHeadlineให้ดึงดูด
เคยสังเกตไหมว่า
สิ่งแรกที่ดึงดูดความสนใจของคุณเมื่อเลื่อนโทรศัพท์ตรวจสอบไทม์ไลน์ใน Twitter, สไลด์นิ้วแบบลื่นปื๊ดในfeed Facebook หรือแม้กระทั่งเช็คเมล์อินบ็อกคืออะไร?
“พาดหัวหรือเนื้อเรื่อง”
และคุณเชื่อหรือไม่ว่า ผู้ใช้ที่สไลด์นิ้วผ่านหัวเรื่อง พวกเขาใช้เวลาตัดสินใจที่จะคลิกผ่านหรืออ่านโพสต์ทั้งหมดในเวลาเพียง 2 วินาที
ใช่ค่ะ คุณอ่านไม่ผิดหรอก พวกเขาใช้เวลาแค่เพียงสั้น ๆ เท่านั้นจริง ๆ เพราะยุคแห่งโลกดิจิทัลนี้ ข่าวสารหรือเรื่องราวต่าง ๆ มีออกมาให้เสพเป็นจำนวนมากบนโลกออนไลน์
ใครเร็วกว่า แรงกว่า โดนใจกว่า ก็จะปังไปเลย
ฉะนั้น ตอนนี้ คุณคงได้คำตอบแล้วว่า สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของคุณเมื่อเลื่อนโทรศัพท์คือ “พาดหัวเรื่อง”
คงน่าเสียดายไม่น้อยเลย หากบทความที่มีคุณภาพของคุณไม่ได้ถูกคลิกอ่านจากผู้คนบนโลกออนไลน์ เหมือนอาหารรสชาดดี แต่สีสันไม่ดึงดูดก็คงไม่มีโอกาสได้รับการลิ้มลองจากนักชิม
ก่อนอื่นคุณต้องตั้งโจทย์ให้กับตัวเองว่า
คุณจะทำอย่างไรให้ผู้คนสะดุดใจ สนใจ จนต้องคลิกเข้าไปอ่านบทความของคุณ?
คำตอบคือ คุณต้องใช้กลยุทธ์การเขียนพาดหัวเรื่อง headline ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากคุณต้องการปรับปรุงการเขียนพาดหัวเรื่องและเพิ่มทักษะการตลาดดิจิทัล เคล็ดลับเหล่านี้จะช่วยให้คุณเขียนหัวข้อ Headline ที่ดึงดูดผู้อ่านจนไม่อาจต้านทานได้ในพริบตา
“พาดหัวเรื่องน่าทึ่ง ให้ตะลึงไปทั้งโลกออนไลน์”
1.เขียนหลาย headline แล้วค่อยละลายจนเหลือเรื่องเดียว
ในช่วงแรก ที่กระบี่ยังไม่คม ลองเขียนพาดหัวไว้ 3-5 หัวข้อ แล้วค่อยเลือกหัวข้อที่ดีที่สุดออกมาใช้
“ไม่มีสูตรสำเร็จในการเขียนบรรทัดแรกที่สมบูรณ์ในทุกครั้ง ดังนั้น คุณจึงต้องเขียนพาดหัวเรื่องไว้มากกว่า 1 หัวข้อเพื่อนำมาใช้ระดมความคิด แล้วค่อยปลิดออกจนเหลือหัวเรื่องเดียว”
2. แทรกตัวเลขมหัศจรรย์ในบรรทัดแรก
การใส่ตัวเลขถือเป็นวิธีง่าย ๆ ที่มีความเฉพาะเจาะจง จากการศึกษาของ Conductor พบว่าผู้คนส่วนใหญ่สนใจพาดหัวเรื่องที่มีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น
“5 ร้านอาหารริมคลองกรุงเก่าเล่าเรื่องย้อนยุค”
“7 กลยุทธ์เพิ่มผู้ติดตามยูทูบ 10,000 คนภายใน 1 เดือน”
เคล็ดลับที่ไม่ลับอีกอย่างหนึ่งคือเราจะใช้ตัวเลขคี่แทนเลขคู่ เพราะมีการศึกษากันแล้วพบกว่าตัวเลขคี่ในบรรทัดแรกมีคนคลิกมากกว่าเลขคู่ถึง 20%
3. ใช้วงเล็บแยกส่วน
ไม่น่าเชื่อว่าการใส่วงเล็บในบรรทัดแรกจะเพิ่มประสิทธิภาพในการเขียนพาดหัวได้ อย่ามองข้ามประโยชน์ของวงเล็บ เพราะคุณสามารถใช้วงเล็บเพื่อแยกส่วนคำสั่งในบรรทัดแรกทำให้พาดหัวเรื่องน่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่งการใช้วงเล็บจะทำให้คนอยากรู้อยากเห็น หรือไม่ก็เพิ่มความน่าเชื่อถือ
ตัวอย่างเช่น
7 วิธีในการเขียนพาดหัวเรื่องที่คุ้มค่ากับการคลิก (# 5 เพิ่มยอดผู้เข้าชมเป็นสองเท่า)
เห็นไหมว่า ตัวอย่างพาดหัวด้านบนโดยใช้วงเล็บเข้ามาช่วย ทำให้ผู้คนเกิดความอยากรู้อยากเห็นว่าข้อ 5 คืออะไรจนต้องคลิกเข้าไปอ่าน
หรือใช้วงเล็บเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ
เช่น 5 วิธีเดินทางไปทำงานแบบสบายกระเป๋า (save เงินได้เดือนละ 3,000 บาท หรือปีละ 36,000 บาทเลยทีเดียว)
4. พิจารณาใช้คำถาม
อีกกลยุทธ์หนึ่งที่สามารถเดิมพันให้คนคลิกที่พาดหัวของคุณคือการถามคำถาม เพราะคำถามสามารถสร้างความอยากรู้อยากเห็นและผู้ที่ต้องการทราบคำตอบของคำถามจะคลิกพาดหัวของคุณและเข้าไปอ่านบทความ
สิ่งสำคัญ: คำถามที่นำมาใช้ตั้งคำถามจะต้องเป็นคำถามที่กระตุ้นความคิดและสร้างความอยากรู้ให้กับผู้คน อย่าเป็นคำถามที่ตอบได้ง่าย ๆ
ตัวอย่างเช่น
คุณเคยทำผิดพลาดในการเขียนพาดหัวเรื่องแบบ 5 ข้อนี้หรือไม่
แน่นอนว่าหากคุณเป็น blogger คุณอาจอยากรู้ว่าข้อผิดพลาดนั้นคืออะไร และคุณเคยทำผิดพลาดมาก่อนหรือไม่
5. มองหาคำหลัก SEO เพื่อให้ผู้ค้นหาพบเนื้อหาของคุณ
บล็อกเกอร์หลายคนมักทำสิ่งที่พลาดอย่างมหันต์โดยไม่ทำการวิจัยคีย์เวิร์ดที่ผู้คนกำลังค้นหาจริง ๆ เพราะหากคุณต้องการให้บทความของคุณติดอันดับการค้นหาในระยะยาว คุณต้องไม่พลาดการวิจัยคีย์เวิร์ดอย่างเด็ดขาด
การพาดหัวเรื่องที่อ้างอิงตามหลัก SEO สามารถช่วยให้ผู้คนค้นพบเนื้อหาในบทความขจองคุณ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การสละเวลาทำ
6. เปิดตาดูคู่แข่งในแวดวงเดียวกัน
อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าการดูบทความในรูปแบบเดียวกับเราจะเป็นการลอกงานของผู้อื่น เพราะในความจริงแล้วมันคือการฝึกหัดที่ดีอย่างหนึ่งในการเขียนพาดหัวเรื่อง ลองค้นหาใน Google และดูว่าพาดหัวเรื่องอื่น ๆ ที่คุณกำลังแข่งขันอยู่เขียนกันอย่างไรบ้าง เพราะอาจทำให้คุณมีแนวคิดที่ดีสำหรับการพาดหัวเรื่องของคุณเอง ให้ดูแตกต่างหรือดีกว่ากว่าที่คู่แข่งทำ
7. ลองหยิบหัวเรื่องเก่าเอามาเล่นใหม่
หากคุณเคยทำบทความมาบ้างแล้วลองนำพาดหัวเรื่องเดิมกลับมาใช้ใหม่
หากวลีที่เคยใช้เด็ด แค่ลองเปลี่ยนส่วนขยาย ก็นำมาขายได้อีก
ยกตัวอย่างเช่น
5 เหตุผลที่คนนิยมใช้ IOS มากกว่า Android
5 เหตุผลที่คนนิยมใช้รถยุโรปมากกว่ารถญี่ปุ่น
8. ลองพาดหัวเรื่องเชิงลบ
พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของผู้คนทุกวันนี้เริ่มเบื่อหน่ายกับคำพูดในเชิงบวกแล้ว เช่น “ดีที่สุด” เพราะเราจะเห็นพาดหัวเรื่องแบบนี้อยู่บ่อย ๆ แต่หากคุณลองพาดหัวเรื่องในเชิงลบ เช่นคำว่า “หยุด” หรือ “หลีกเลี่ยง”
ตัวอย่างเช่น
พาดหัวเรื่องทั่วไป : 5 เทคนิคปล่อยใจให้สบาย
พาดหัวเรื่องเชิงลบ : 5 สิ่งควรหลีกเลี่ยงเพื่อป้องกันภาวะความตึงเครียด
9. พาดหัวเรื่องตามเป้าหมาย
บางครั้งชื่อบทความในบล็อกอาจไม่จำเป็นต้องตรงกับชื่อ SEO ที่แชร์บนโซเชียลมีเดีย โดยคุณสารถพิจารณาการเขียนพาดหัวเรื่องให้มีความแตกต่างกันไปเพื่อกำหนดเป้าหมาย
ชื่อบทความ : ผู้หญิงช้อปปิ้งนานจริงหรือไม่
SEO Title : ทำไมผู้หญิงชอบช้อปปิ้งนาน
ชื่อโซเชียลมีเดีย : ความลับของผู้หญิงชอบช้อปปิ้งนานจัดงบประมาณกันอย่างไร
ชื่อโซเชียลมีเดียมีการตั้งกระทู้เพื่อให้เกิดการสนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ชื่อบทสนทนาสั้นและตรงประเด็น แต่ไม่มีคีย์เวิร์ดเหมือนกับ SEO
เมื่อคุณได้เคล็ดลับการเขียนพาดหัวเรื่องไปแล้วลองนำไปปรับใช้และฝึกฝนการเขียนหัวเรื่องของคุณ เพื่อให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ทำให้ผู้คนสนใจและคลิกเข้าไปอ่าน และมีการแชร์เผยแพร่บทความแบบนับครั้งไม่ถ้วน จำไว้ว่าการเขียนพาดหัวเรื่องไม่ใช่ว่าจะเขียนแบบเซียนกันได้แค่ชั่วข้ามคืน เพราะขึ้นชื่อว่า “ทักษะ” ทุกด้านต้องมีการฝึกฝนและหมั่นทำเป็นประจำ วันหนึ่งฝีมือของคุณก็จะพัฒนาให้ดีขึ้นได้