โพสเมื่อ 07 Jul 2020 21:21:12 2485 view
เรียนรู้สู่การเป็นนักเขียน
ทุกวันนี้มีผู้คนเป็นจำนวนมากที่อยากทำอาชีพอิสระ และเลือกทางเดินสู่สายอาชีพ “นักเขียน”
ไม่ใช่แค่คุณเขียนได้ แล้วคุณจะเป็นนักเขียนได้ การเป็นนักเขียนที่ดีว่ายากแล้ว แต่การเป็น “นักเขียนที่มีประสิทธิภาพ” นั้นยากกว่า เพราะการที่จะเป็นนักเขียนที่ดีมักจะเป็นบันไดนำไปสู่การเป็นนักคิดที่ดีด้วย
จะทำอย่างไร หากอยากเป็นนักเขียนที่ดีและมีประสิทธิภาพ ลองมาดูบทความนี้กันว่าทักษะการเขียนของคุณสามารถพัฒนาได้อย่างไร
ขั้นตอนที่ 1 ขยันอ่าน เก็บความรู้สู่คลังสมอง
ก่อนจะมาเป็นนักเขียนที่ดีที่สุด ส่วนใหญ่แล้วจะต้องผ่านการเป็นนักอ่านที่ดีที่สุดมาก่อน ยิ่งคุณอ่านหนังสือ หรือหาความรู้มากเท่าไร คุณก็จะยิ่งเก็บแต้มความรู้ชูปัญญาของคุณได้มากเท่านั้น การอ่านมาก ไม่สามารถทำการประเมินวัดค่าเป็นรูปธรรมได้ แต่นักเขียนที่มีการอ่านเก็บคลังความรู้ใส่สมองไว้เท่านั้นจึงจะรู้และเข้ามใจว่าเมื่อไรที่คุณต้องการนำมันออกมาใช้ สมองของเราจะคัดแยกและหยิบความรู้ต่าง ๆ ที่ถูกเก็บสะสมไว้ออกมาใช้ได้เองอย่างน่าอัศจรรย์
แหล่งข้อมูลความรู้ มีทั้งหนังสือเล่ม, หนังสือ e-book, หรือแม้แต่ห้องสมุดท้องถิ่นที่เต็มไปด้วยทรัพยากรฟรีให้คุณสามารถหยิบยืมมาอ่านได้
ขั้นตอนที่ 2 เขียนทุกวัน
หมั่นฝึกฝนเขียนให้ได้ทุกวัน ทำให้การเขียนเหมือนการบริโภคอาหารที่คุณไม่สามารถขาดได้ พยายามเขียนให้มากขึ้น เพื่อดูพัฒนาการด้านทักษะการเขียนของคุณว่ามีความก้าวไหนไปในระดับใด และเมื่อคุณเขียนทุกวันจนถึงจุดที่เป็นความคุ้นชินและเป็นธรรมชาติ คุณจะรู้สึกว่า “การเขียนง่ายขึ้น” เหมือนกับคุณหัดพูด หัดเดินในตอนเด็ก ๆ แรก ๆ อาจจะยาก แต่ถ้าในเวลานั้น คุณหยุดพูด หยุดเดิน ในวันนี้คุณคงไม่สามารถพูดและเดินได้
ขั้นตอนที่ 3 เขียนบล็อก ปลดล็อคความคิด
เมื่อพูดถึงบล็อก คงจะเป็นช่องทางหนึ่งที่นิยมและเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการฝึกการเป็นนักเขียนของผู้เริ่มต้นการเป็น “นักเขียนที่ดี” ในบทความแรก ๆ ของการเขียนบล็อก คุณอาจจะเขียนได้น้อย และคุณภาพไม่ดีพอ แต่หากคุณฝึกเขียนทุกวัน มีการลงบทความอย่างสม่ำเสมอ ภาษาเขียนของคุณจะเริ่มมีความชัดเจนและสละสลวยยิ่งขึ้น
ขั้นตอนที่ 4 อ่านหนังสือ
ไม่ว่าจะเป็นหนังสือประเภทใด ขอให้คุณหยิบมาอ่าน เพราะการอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่มของนักเขียนมืออาชีพ จะทำให้คุณเกิดการเรียนรู้ในแง่มุมอื่น ๆ ที่คุณอาจมองข้ามไป อย่างเช่น อ่านหนังสือแนวการตลาด, แนวธุรกิจการเงินการลงทุน ซึ่งการอ่านหนังสือเหล่านี้จะช่วยให้คุณรู้เทรนด์ว่าปัจจุบันนี้ โลกกำลังสนใจเรื่องใดอยู่ และนั่นจะนำไปสู่การทำหนังสือออนไลน์ได้
“รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”
ขั้นตอนที่ 5 ลงเรียนออนไลน์ ชีวิตคือการลงทุน
บางครั้ง เพียงแค่การหาหนังสือซึ่งเป็นคลังความรู้มาอ่าน อาจยังไม่เพียงพอ เพราะบางองค์ความรู้คุณต้องลงมือปฏิบัติจริง เมื่อพบข้อสงสัยในระหว่างปฏิบัติจะสามารถสอบถามจากผู้รู้ได้
“หากคุณเรียนว่ายน้ำแค่ทฤษฎีหรืออ่านจากตำราเพียงอย่างเดียว คุณคงไม่มีวันว่ายน้ำเป็นได้ การเขียนก็เช่นเดียวกัน เพียงแค่คุณอ่าน แต่ไม่ลงมือเขียนหรือลงมือปฏิบัติ แล้วคุณจะเขียนเป็นและเขียนดีได้อย่างไร”
ขั้นตอนที่ 6 หาสนามฝึกซ้อม ยอมรับคำวิจารณ์
หากคุณนำงานเขียนของคุณไปให้คนที่รู้จักสนิทสนมใกล้ชิดกันอ่าน และวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งที่คุณได้รับอาจไม่ใช่ความจริง เนื่องจาก บุคคลนั้นอาจไม่ได้มีองค์ความรู้มากพอที่จะวิจารณ์หรือประเมินคุณได้ หรืออาจจะวิจารณ์ด้วยความเกรงใจ ไม่มีข้อติเตียน มีเฉพาะคำชม แล้วอย่างนี้ เมื่อไรคุณจะมองเห็นข้อแก้ไขในงานของคุณล่ะ ดังนั้น คุณควรค้นหาเพื่อนร่วมธุรกิจหรือผู้ให้คำปรึกษาที่คุณไว้วางใจ โดยคุณอาจหาได้จากชุมชนออนไลน์เพื่อรับข้อเสนอแนะที่แท้จริง
ขั้นตอนที่ 7 ฝึกการจดบันทึกประจำวัน
การจดบันทึกประจำวันนอกจากจะฝึกฝนด้านการเขียนทุกวันแล้ว ยังช่วยให้คุณเป็นคนช่างสังเกต เก็บเกี่ยวความรู้ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวและผ่านเข้ามาในชีวิต ในเวลาที่คุณกำลังเผชิญกับสภาวะต่าง ๆ อาจเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ และเร่งด่วนจนทำให้คุณละเลยและขาดการวิเคราะห์ไป เมื่อผ่านไปนานวันคุณอาจจะลืมเลือนลง แต่หากคุณจดบันทึกประจำวันและได้มีเวลากลับมาอ่านอีกครั้ง บันทึกประจำวันของคุณจะช่วยให้คุณมองเห็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่ภายในนั้น
นอกจากนั้น การจดบันทึกยังช่วยคุณจัดระเบียบความคิดของคุณและจัดลำดับความสำคัญของงานหรือความคิดริเริ่มของคุณให้ดีขึ้น
ขั้นตอนที่ 8 ฝึกฝนการสนทนามากขึ้น
หลายคนอาจเข้าใจว่าบุคลิกภาพโดยส่วนใหญ่ของนักเขียนมักจะเงียบขรึม เก็บตัว และมีโลกส่วนตัวสูง แต่หากคุณอยู่ในโลกที่มีคุณเพียงคนเดียวนานเกินไป อาจทำให้คุณขาดสังคมและงานเขียนของคุณออกมาในลักษณะตึงเครียด ดังนั้น “จงฝึกการสนทนากับผู้อื่นเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด” ที่อาจเกิดขึ้นกับคุณโดยไม่รู้ตัว
ยิ่งไปกว่านั้น ในโลกของงานเขียนออนไลน์ ยิ่งคุณมี connection ดีมากเท่าไร ก็ยิ่งง่ายที่จะติดต่อปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจและเชื่อถือคุณมากขึ้น
ขั้นตอนที่ 9 เขียนแบบไอ้หนุ่มหมัดเมา เผากฎเกณฑ์ทิ้งไป
งานเขียนถือเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ จริงอยู่ที่คุณควรมีองค์ความรู้เพื่อจะได้นำมาเป็นข้อมูลในการเขียนงาน แต่คุณเคยประสบปัญหาเขียนงานไม่ออกบ้างไหม แม้ว่าคลังความรู้ที่อยู่ในหัว หรือเอกสารประกอบการเขียนจะกองอยู่ตรงหน้าคุณ แต่ความคิดของคุณสะดุด ไม่ลื่นไหล
ลองหาสถานที่ผ่อนคลาย หรือหากลุ่มเพื่อสังสรรค์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำงานร่วมกัน การปรับเปลี่ยนและพบกับบรรยากาศที่ผ่อนคลายจะช่วยให้คุณคิดงานสร้างสรรค์และไหลลื่นอย่างอิสระ
“อย่าจมอยู่กับรูปแบบ การวิจัย และข้อมูลมากเกินไป”
ขั้นตอนที่ 10 ตอบตัวเองให้ได้ว่าทำไมคุณจึงต้องการเป็น “นักเขียน”
ก่อนที่คุณจะตอบตัวเองได้ว่าทำไมคุณจึงต้องการเป็นนักเขียน คุณต้องยอมรับเส้นทางที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ 9 ข้อให้ได้ก่อนว่า หากคุณตัดสินใจเลือกที่จะเป็นนักเขียนแล้ว คุณต้องยอมรับมัน และเมื่อคุณตัดสินใจดีแล้ว ก็ตอบตัวเองให้ได้ว่า “ทำไมคุณจึงต้องการเป็นนักเขียน”
คุณอาจตอบตัวเองได้ว่าเหตุใด เช่น อยากมีอิสระในการทำงาน, อยากมีชื่อเสียง, อยากหารายได้พิเศษนอกเหนือไปจากทำงานประจำ หรือเหตุผลอื่น ๆ อีกมากมาย แต่เท่านี้คงไม่พอ คุณยังต้องตอบตัวเองได้ว่า
“ทำไม คุณจึงอยากเป็นนักเขียนที่ดีกว่า?”
เพราะหากคุณมีคำตอบให้กับคำถามนี้ คุณจะสามารถฝึกฝนและพัฒนาทักษะฝีมืองานเขียนของคุณให้ก้าวหน้า จนกลายเป็น “นักเขียนที่ดีและมีประสิทธิภาพ” ได้ต่อไปในอนาคต