บทความ นักคิดนักเขียน


โพสเมื่อ 15 Oct 2019 08:8:45 1793 view




8 เทคนิค ทริคสร้างงานเขียนง่าย ๆ

 

 

การเขียนเป็นเรื่องที่ใครๆก็เขียนได้ ไม่มีใครเกิดมาแล้วเขียนเป็นตั้งแต่เกิดหรอกค่ะ การเขียนเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยการฝึกฝน ทำซ้ำๆบ่อย ๆ จนเกิดความชำนาญก็จะทำให้งานเขียนของเราเป็นงานเขียนที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด

คุณลองคิดด้วยตรรกะง่าย ๆ ถ้าคุณพูดได้ คุณก็ต้องเขียนได้ แค่คุณลองทำตาม 8 เทคนิคการเขียนต่อไปนี้

 

ผ่านก้าวแรกให้ได้

“ทุกสิ่งอย่างบนโลกนี้มันยากแค่ก้าวแรกเท่านั้นแหละ” 

หากคุณก้าวข้ามผ่านก้าวแรกไปได้ ครั้งต่อไปคุณก็จะเขียนได้อย่างลื่นไหล หากคุณนั่งมองหน้ากระดาษ หรือหน้าจอที่ว่างเปล่าโดยไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี ให้คุณลองนึกคำหรือประโยคขึ้นมาเพื่อเป็นกุญแจเริ่มต้นที่จะขยายความและเขียนเรื่องราวเหล่านั้นลงไปบนหน้าจอของคุณ

 

ยืมแม่แบบ ไม่ใช่ ลอกแบบ

หากคุณหาหัวข้อที่อยากเขียนได้แล้ว ลองหาตัวอย่างงานเขียนแนวที่คุณสนใจ เพื่อใช้เป็น “แม่แบบ” ค้นหารูปแบบที่คุณชอบและสร้างโครงร่างงานเขียนตามแนวของคุณเอง การเขียนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ สำนวนการเขียนเป็นเอกลักษณ์ของนักเขียนแต่ละคน หากลอกแบบยกมาทั้งชุด งานเขียนของคุณคงขาดเสน่ห์ไปเลย

 

พูดก่อนที่จะเขียน

เมื่อคุณผ่าน 2 ขั้นตอนแรกมาแล้ว คุณรู้ว่าอยากเขียนเรื่องอะไร และมีการค้นตัวอย่างงานเขียนอื่นๆ เพื่อยืมแนวคิดบางส่วนมาใช้กับงานเขียนของคุณ แต่คุณก็ยังเขียนไม่ได้อยู่ดี ไม่รู้จะเขียนอะไร ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือลองถ่ายทอดออกมาด้วยวิธีการพูด อาจจะพูดให้คนใกล้ชิดฟังแล้วให้พวกเขาเหล่านั้นประเมินเนื้อหาที่คุณถ่ายทอดเพื่อตรวจสอบว่าพวกเขาเข้าใจในสิ่งที่คุณต้องการถ่ายถอดหรือไม่ หรือคุณอาจพูดเนื้อเรื่องที่อยู่ในหัวคุณออกมาอัดเสียงไว้ก่อน แล้วหลังจากนั้นจึงนำมาเปิดฟัง หากคุณฟังแล้วเข้าใจ คุณก็ลองถ่ายทอดและเรียงร้อยถ้อยคำของคุณออกมาเป็นงานเขียนใหม่อีกครั้งหนึ่ง

 

เขียนแบบเล่าเรื่อง

การเขียนที่ทรงพลังที่จะถ่ายทอดให้ผู้อ่านเข้าใจชัดเจนและมีอารมณ์ร่วมไปกับงานเขียนของคุณคือการเขียนแบบเล่าเรื่อง ประหนึ่งว่าคุณกำลังนั่งคุยถ่ายทอดเรื่องราวให้เพื่อนคุณฟัง การเขียนแบบเล่าเรื่องนี้จะกระตุ้นอารมณ์ของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี 

 

ดึงอารมณ์ความรู้สึกออกมา

ข้อนี้มาเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก เพราะมันเป็นการตอบสนองที่ทรงพลังที่สุด เพราะหากผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมไปกับงานเขียนของคุณ จะทำให้ผู้อ่านตกอยู่ในภวังค์จนตัดสินใจซื้องานเขียนของคุณ หรือคล้อยตามไปกับสิ่งที่คุณอยากถ่ายทอด ดังนั้น จงเขียนด้วยความหลงใหลในการกระตุ้นอารมณ์ของผู้อ่านเพราะนั่นจะทำให้งานเขียนของคุณบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

 

ทิ้งงานเขียนไว้ช่วงหนึ่ง

การทิ้งงานเขียนไว้ช่วงหนึ่ง คุณอาจจะทิ้งมันไว้ 1-2 วัน แล้วกลับมาอ่านทบทวนงานเขียนของคุณใหม่ เมื่อเวลาผ่านไป อารมณ์ของคุณเปลี่ยนไป คุณอาจจะตรวจพบข้อผิดพลาด หรือข้อความบางส่วนที่คุณต้องการปรับปรุงงานเขียนของคุณให้ดียิ่งขึ้น ถ้ามีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดที่อยู่ในแวดวงงานเขียนเหมือนกับคุณ ลองส่งงานเขียนของคุณให้พวกเขาอ่าน เพื่อรับคำแนะนำติชมและนำมาปรับปรุงงานเขียนของคุณให้ตรงเป้าหมายกลุ่มผู้อ่านของคุณ

 

เคล็ดลับการตรวจการสะกดและการแก้ไข

อย่ารีบร้อนจนลืมตรวจสอบการสะกดคำในงานเขียนของคุณ ลองใช้เครื่องมือพื้นฐานตรวจตัวสะกดเพื่อลดเวลาการตรวจทาน  งานเขียนที่ดีและมีคุณภาพ ไม่ควรมีคำสะกดผิดเพราะมันสื่อถึงความไม่ใส่ใจในงานเขียนและความไม่เป็นมืออาชีพในสายงานของคุณ

จงสร้างงานเขียนที่เป็นงานเขียน ไม่ใช่สร้างงานเขียนที่เป็น “งานเขี่ย”

 

เปลี่ยน location ใหม่สร้างอารมณ์เขียน

หากสถานที่นั่งเขียนประจำของคุณคือโต๊ะทำงานที่บ้าน นานวันเข้า คุณอาจเจออารณ์แบบเขียนไม่ออก ลองวิธีนี้ดูสิคะ คือไปหา location ใหม่เพื่อบิ้วท์อารมณ์งานเขียนของคุณ อาจจะเป็นห้องสมุดเอกชนเงียบ ๆ , มุมสงบในร้านกาแฟ, สถานที่พักตากอากาศต่างจังหวัด เพื่อทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย ทีนี้ละก็ งานเขียนของคุณจะลื่นไหลจนยากที่จะหยุดอยู่

 

8 เทคนิคที่กล่าวมาเป็นเพียงเทคนิคที่จะช่วยให้คนที่รักงานเขียนและอยากเป็นนักเขียนได้นำมาปรับใช้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับงานเขียนของคุณ แต่เทคนิคเหล่านี้จะไม่ช่วยอะไรเลย หากคุณสร้างแรงจูงใจ, สร้างวินัยการเขียนให้กับตัวคุณเอง  

“การเขียนก็เหมือนดินสอ ยิ่งลับก็ยิ่งแหลม” หมั่นฝึกฝนทุกวันหรือทุกครั้งที่โอกาสอำนวย เพราะไม่แน่วันหนึ่งข้างหน้าโชคอาจจะช่วยให้คุณได้เจอโอกาสดี ๆ ที่เข้ามาในชีวิตลิขิตเส้นทางการเป็นนักเขียนของคุณก็ได้

 


 



นักคิดนักเขียน

กฎ 5 ข้อเขียนอย่างไรให้ขายดี

ลองนำเทคนิค 5 ข้อนี้ไปปรับใช้กับงานเขียนตัวเอง ดูนะคะแล้วคุณจะเป็นนักเขียนได้ไม่ยากเลย..ปรับใช้ ปรับปรุง ปรับแนวคิด
2016-05-22 19:47:02, 2998 view

อยากเป็นนักเขียน

อยากเป็นนักเขียน ต้องเริ่มจากการอ่าน อ่านให้เยอะ ศึกษาให้มาก ถ้าจะเขียนอะไรก็วางจุดเริ่มและจุดจบให้ดี ถ้าเขียนไปคิดไปอาจเลิกกลางคัน ทำอะไรต้องมีการวาง
2016-05-22 19:58:05, 3041 view

เขียนทุกวันให้เป็นนิสัย

เรียนรู้งานเขียนทุกๆ วันด้วยการตั้งประเด็น ฝึกคิดและเขียนด้วยตัวเอง เขียนทุกวันให้เป็นนิสัย
2016-05-27 09:09:25, 2660 view

ฝึกทักษะการจับประเด็น

รู้จักตั้งคำคิด ตอบคำถาม หาจุดสำคัญของเรื่องที่จะเขียน อะไรคือประเด็นหลักที่ควรเล่น อะไรคือประเด็นรองที่ควรเขียน
2016-06-09 23:02:48, 5788 view

โฟกัสกับงานเขียนให้มากพอ

อยากเขียน แต่เขียนไม่ออก เขียนไม่ได้ เขียนไม่จบเล่ม เพราะเวลา..หรือเราโฟกัสกับมันไม่มากพอ
2016-06-01 10:50:28, 2583 view